ความเป็นมา

โครงการจัดสร้างพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
พระใหญ่เมืองภูเก็ต

การสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างวัตถุมงคลที่ประเสริฐ อันทรงคุณค่าที่ประมาณมิได้ เพราะพระพุทธรูปเป็นรูปที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า และเคารพบูชาแทนพระองค์จริง ซึ่งได้ปรินิพพานไปนานแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา ทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อชาวโลก ทรงสละความสุขสบายในวรรณะกษัตริย์ ออกผนวชบำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้ตรัสรู้อริยสัจ ทรงค้นพบสัจธรรมหรือความจริงต่างๆ จากการตรัสรู้พระองค์เองนานาประการ แล้วประกาศสัจธรรมนั้นแก่ชาวโลก หลักธรรมของพระองค์ มุ่งละเว้นการกระทำความชั่ว มุ่งกระทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระองค์ จะประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เนื่องจากมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินบนภูเขาสูง มองเห็นทัศนียภาพทั่วเกาะภูเก็ตให้แก่วัดกิตติสังฆาราม มีจำนวนเนื้อที่เพียงพอ เหมาะสมอันควรแก่การที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้มีความสง่างามเป็นอย่างยิ่ง วัดกิตติสังฆาราม คณะกรรมการวัด ประชาชนและพุทธศาสนิกชน มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะได้จัดทำโครงการสร้าง “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” ณ สถานที่แห่งนี้ไว้เคารพบูชาแทนพระพุทธองค์ และจะได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณสถานที่ประดิษฐาน ให้เป็นพุทธอุทยาน ให้มีความร่มรื่น สวยงาม เพื่อจะได้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ที่ร่มรื่นและสวยงามเช่นนี้ นั้นเหมาะแก่การนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่แปด พ.ศ. 2540 - 2544 นั้น ในบทที่ 3 ได้เน้นถึงการพัฒนาจิตใจของเยาวชนและประชาชน ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่เก้า ในปลายปี พ.ศ. 2544 - 2549 ก็ยังเน้นถึงการฟื้นฟูบูรณาการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์อีก ด้วย เเต่หากมองให้เข้าถึงธรรมชาติที่เเท้จริงเเล้ว มนุษย์ก็คือตัวธรรมชาติ ที่ต้องได้รับการบูรณาการ โดยการนำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาขัดเกลาจิตใจ ทางคณะกรรมการได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มีโครงการจัดสร้างพุทธอุทยาน ประดิษฐาน “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเเละสันติสุขขึ้นมา อีกทั้งเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ความเคารพ ความศรัทธาต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ซึ่งหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง และจะได้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดชมหาราช

พระใหญ่เมืองภูเก็ต

สัญญาใจ ชีวิตนี้ควรจะได้อะไร

ใน โลกนี้มีอะไรบ้างที่ไม่ต้องลงทุน พุทธศาสนิกชนทั้งหลายผู้มีบุญหนุนนำให้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ต่างก็แสวงหา หนทางแห่งความพ้นทุกข์ ต้องการพบความสุขที่ยั่งยืน

การที่เราได้มาสร้างพระใหญ่ ณ บนยอดเขานาคเกิด จังหวัดภูเก็ต นี้เป็น สัญญาใจ เป็นบุญกิริยาวัตถุ เป็นบารมีเป็นบุญราศี เป็นตำนานของแผ่นดิน เป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จะได้แสดงศรัทธา เมตตา ปัญญา สามัคคีทวีคูณ สันติภาพ ความรู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ผู้อื่น เป็นที่ทำมาหาบุญ เป็นการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา

ในนามของคณะผู้จัดสร้างพระใหญ่ จึงขอกล่าวถึงการจัดสร้างพระใหญ่ ให้พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาร่วมสร้างที่ให้ การสนับสนุนมาโดยตลอดได้ ทราบวัตถุประสงค์ นั้นคือ สร้างพระ สร้างคน สร้างชาติ พร้อมใจน้อมถวายเป็นพระราชกุศล ลูก สร้าง ถวายพ่อของแผ่นดิน ตลอดจนเป้าหมายสูงสุดคือ การเผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์ ให้แพร่หลายครองใจคน และ ครอง สังคม การดำริถึงคำสอนของพระศาสดาเอกของโลก ซึ่งก็เป็นครูของเหล่าเทพเทวา พระอินทร์ พระพรหมทั้งหลาย และการเข้า ถึงคำสอนอย่างแท้จริง ด้วยความไม่ประมาท จะต้องปฏิบัติบูชา คือ มหาสติปัฏฐานแนวทางโพธิปักขิยธรรม ตั้งมั่นในการทำ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ดั่งคำสอน ทาน ศีล ภาวนา นำไปสู่ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือ การดับทุกข์โดยสิ้น เชิงจบลงด้วยการหยั่งเห็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

กุศลใดอันพึงได้พึงมีจากการนี้ ขอน้อมถวายเป็นอมิสบูชา เพื่อบูชาพระคุณของพระบรมศาสดา อรหันตสัมมา สัมพุทธ เจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงยังโลกสามให้สว่างไสวคลายความมืดมน

ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้โปรดลงทุนพร้อมใจกันรังสรรค์ สร้างสรรค์ พุทธอุทยาน ที่เป็นมหามงคลมรดกทางใจ ไว้บนโลกใบนี้ ใครมีปัจจัยเอาปัจจัยมา ใครมีแรงเอาแรงมา ใครมีปัญญาเอาปัญญามา เอาความดีและคนดีมารวมกัน ผลแห่งกุศล เจตนานี้จงมารวมกัน เป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัย ส่งผลให้งานสำเร็จ ผู้ที่มากราบไหว้บูชา และผู้มีส่วนร่วมสร้างจงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ โภคะ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ประสบความสุข ความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม ให้สำเร็จ ทุกประการ จะเดินทางไปที่ไหนปลอดภัยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

นายสุพร วนิชกุล

ประธานผู้ดำเนินการจัดสร้าง 9 มิถุนายน พ.ศ. 2548